07 กุมภาพันธ์ 2555

บุญกิริยาวัตถุ ๓


ประเด็นที่ต้องศึกษามีอยู่ ๓ ประเด็น คือ ๑) เป้าหมายของบุญกิริยาวัตถุแต่ละข้อ ๒) หลักการปฏิบัติ และ ๓) ผลที่จะได้รับ

                  ๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้การเสียสละ

ทาน คือ การเสียสละให้ปันสิ่งของของตน เพื่อช่วยเหลือและอนุเคราะห์ผู้อื่น
เป้าหมาย : เพื่อกำจัดกิเลสสายโลภะ ความโลภอยากได้
หลักการปฏิบัติ : บริจาคทรัพย์สิ่งของของตนให้แก่บุคคลที่ควรให้ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ๑) ให้โดยเจาะจงผู้รับ ๒) ให้โดยไม่จงเจาะผู้รับ การให้ทานนั้นท่านให้คำนึงถึงหลักใหญ่ ๆ ๓ ประการ คือ
๑. วัตถุ คือ ของที่ให้นั้นต้องเป็นของที่บริสุทธิ์ ได้มาในทางที่สุจริต และควรเป็นของที่ผู้รับนำไปใช้ประโยชน์ได้
๒. เจตนา คือ ผู้ให้ต้องมีเจตนาที่จะให้จริง ๆ โดยมุ่งที่จะชำระกิเลสคือโลภะ มีจิตใจที่เบิกบานทั้งก่อนให้ ขณะให้ หรือหลังให้ ไม่นึกเสียดาย
๓. ผู้รับ ควรเป็นคนดี มีความสุจริต เป็นผู้ที่เราเชื่อมั่นว่าจะนำทรัพย์ที่เราให้นั้นไปใช้ในทางที่ถูก ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและเสียหายแก่ผู้อื่น
ผลที่จะได้รับ : ได้ กำจัดกิเลสคือโลภะ ความละโมบโลภมาก ความเห็นแก่ตัว ความตระหนี่ ทำให้เป็นคนมีเมตตา โอบอ้อมอารี มีน้ำใจ เป็นที่รักของคนทั่วไป
 

๒. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
       ศีล หมายถึง การรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย คือ ไม่ทำชั่วทางกาย และวาจา
     เป้าหมาย
: เพื่อกำจัดกิเลสสายโทสะ ป้องกันการทำชั่วทางกาย ทางวาจา
หลักการปฏิบัติ : งดเว้นจากการประพฤติที่ไม่ดีทางกาย ทางวาจา ควบคุมการกระทำ การพูดให้เป็นปกติ โดยเลือกรักษาศีล ๕, ศีล ๘, ศีล ๑๐, ศีล ๒๒๗, ศีล ๓๑๑ ตามสมควรแก่ภาวะและความสามารถของตน

ผลที่จะได้รับ : ผู้ ที่ตั้งมั่นในศีลและรักษาให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ จิตใจย่อมอ่อนโยน ปราศจากความคิดประทุษร้าย อาฆาตพยาบาท มีกาย วาจาที่สงบเรียบร้อยเป็นปกติ ไม่เดือดร้อนหรือเป็นทุกข์เพราะกิเลสที่เกิดจากอำนาจโทสะ

๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา
ภาวนา หมายถึง การอบรมพัฒนาจิตให้เกิดความรู้ความเห็นในทางที่ถูกตามความเป็นจริง

เป้าหมาย : เพื่อกำจัดกิเลสสายโมหะ คือความหลงไม่รู้จริงให้หมดไป
      หลักการปฏิบัติ : มี ๓ วิธี คือ ๑) แสวงหาความรู้ด้วยการฟัง การอ่าน การเขียน การศึกษาเล่าเรียน ที่เรียกว่า สุตมยปัญญา
๒) แสวงหาความรู้ด้วยการคิด การตริตรองสิ่งต่าง ๆ ตามหลักเหตุผล
เรียกว่า จินตมยปัญญา

๓) แสวงหาความรู้ด้วยการเจริญกรรมฐาน ๒ ประการ คือ
สมถกรรมฐาน
(การฝึกสมาธิทำใจให้สงบ) และวิปัสสนากรรมฐาน (การฝึกอบรมปัญญาด้วยการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ตามกฎไตรลักษณ์) เรียกว่า ภาวนามยปัญญา

ผลที่จะได้รับ : ทำ ให้เป็นคนฉลาด มีเหตุมีผล กระทำสิ่งใดก็ทำด้วยความเข้าใจจริง ไม่หลงงมงาย รู้สิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ไม่หลงยึดมั่นถือมั่น มีความเห็นที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น